งานนมัสการองค์พระสมุทรเจดีย์

           พระสมุทรเจดีย์ หรือ "พระเจดีย์กลางน้ำ ” ถือเป็นปูชนียสถาน คู่บ้าน คู่เมือง และเป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดสมุทรปราการ ตั้งอยู่ที่ ตำบลปากคลองบางปลากด อำเภอพระสมุทรเจดีย์ บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำเจ้าพระยา ตรงข้ามกับศาลากลางจังหวัด โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาคั่นกลาง และถือว่าเป็นโบราณสถานที่สำคัญของชาติ
          พระสมุทรเจดีย์ เริ่มก่อสร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2 ) ภายหลังจากที่ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดสร้างเมืองสมุทรปราการและป้อมปราการต่าง ๆ โดยพื้นที่เดิมเป็นเกาะมีน้ำล้อมรอบ เรือสินค้าสามารถแล่นอ้อมรอบๆเกาะได้ จึงได้ชื่อว่า "พระสมุทรเจดีย์กลางน้ำ ” ปัจจุบันกระแสน้ำเปลี่ยนทิศทางและแผ่นดินได้ยื่นงอกออกมาจากการทับถมของตะกอน จนทำให้พื้นที่เกาะหมดไป คงเหลือเพียง "พระสมุทรเจดีย์” เท่านั้น
           พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ กับสมเด็จพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ ครั้งยังเป็นพระยาพระคลัง เป็นแม่กองจัดการ ถมเกาะหาดทรายให้แน่นหนามั่นคง เสร็จแล้วโปรดเกล้าฯให้ กรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ กับ พระยาราชสงคราม คิดแบบเจดีย์จนเป็นที่พอพระราชหฤทัย แล้วจึงโปรดเกล้าฯให้ พระเจ้า ลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์กับเจ้าพระยาพระคลัง เป็นผู้อำนวยการสร้าง แต่พระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน ต่อมาพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ทรงพระนามว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พระยาศรีธรรมราชและพระยาพระคลัง เป็นแม่กอง จัดสร้างพระเจดีย์ขึ้นกลางเกาะตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2371 พระราชทานนามว่า "พระสมุทรเจดีย์

          พระสมุทรเจดีย์ เดิมสร้างเป็นแบบย่อเหลี่ยมไม้สิบสอง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ทอดพระเนตรสภาพทั่วไปของพระสมุทรเจดีย์ ทรงมีพระราชประสงค์จะสถาปนาให้สูงขึ้นไปอีก เพื่อให้เรือของชาวต่างประเทศที่เข้ามาจะได้แลเห็นพระสมุทรเจดีย์ จึงโปรดเกล้าฯให้ช่างไปถ่ายแบบพระเจดีย์ลอมฟางที่กรุงศรีอยุธยา แล้วโปรดเกล้าฯให้กรมหมื่นราชสีหวิกรม เป็นนายช่างจัดการสร้างพระเจดีย์แบบลอมฟางครอบพระเจดีย์เดิม นอกจากนี้ ยังทรงสร้างศาลาเก๋งจีน หอเทียน หอระฆัง พระวิหาร และพระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร พร้อมหลักผูกเรือริมน้ำรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ และได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ 12 องค์ จากพระบรมมหาราชวัง แห่มาทางชลมารคบรรจุไว้ตามโบราณราชประเพณี ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯให้มีการสมโภชเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ จนเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน”

         จังหวัดสมุทรปราการ ได้จัดให้มีงานนมัสการพระสมุทรเจดีย์เป็นงานประจำปีที่สำคัญของจังหวัด โดยกำหนดเอาวันแรม 5 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปีเป็นวันเริ่มงาน ก่อนเริ่มงานประมาณวันแรม 2 ค่ำ เดือน 11 จะมีพุทธศาสนิกชนทั้งชายและหญิง พร้อมใจกันเย็บผ้าแดงผืนใหญ่สำหรับห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ พอถึง วันแรม 5 ค่ำ เดือน11 คณะกรรมการจัดงานจะอัญเชิญผ้าแดงตั้งบนบุษบก แห่ไปรอบๆ ตัวเมือง และอัญเชิญผ้าแดงลงเรือแห่ไปตามลำน้ำเจ้าพระยา จนถึงอำเภอพระประแดง เพื่อให้ชาวอำเภอพระประแดงร่วมอนุโมทนา จากนั้นจึงแห่กลับมาทำพิธีทักษิณาวรรตรอบองค์พระสมุทรเจดีย์ ก่อนนำผ้าขึ้นห่มองค์พระสมุทรเจดีย์ ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีหลังจากพิธีห่มผ้าองค์พระสมุทรเจดีย์ ในวันแรม 8 ค่ำเดือน 11 จะมีพิธีเวียนเทียนสักการะพระสมุทรเจดีย์ซึ่งได้ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อสักการะพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 12 องค์ ซึ่งอยู่ภายในพระสมุทรเจดีย์ โดยพิธีเวียนเทียนดังกล่าวเป็นแห่งเดียวที่จัดขึ้นในวันแรม 8 ค่ำ
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image

image วิดีโอ

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar