ประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดบางโฉลงใน

          ประเพณีตักบาตรดอกไม้ มรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของชาวตำบลบางโฉลง อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมาเป็นเวลากว่า 100 ปี เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
          ประเพณีตักบาตรดอกไม้ วัดบางโฉลงใน อำเภอบางพลี จังสมุทรปราการ ถือเป็นประเพณีที่ได้ถือปฏิบัติกันมาของผู้ถือศีลและพุทธศาสนิกชน โดยนำดอกไม้มาถวายพระสงฆ์ในวันเข้าพรรษา เพื่อพระสงฆ์ได้นำดอกไม้ไปกระทำพิธีสังฆกรรมในพระอุโบสถ ซึ่งถือปฏิบัติมาเป็นเวลากว่า 100 ปี
ต่อมาสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดสมุทรปราการและสภาวัฒนธรรมอำเภอบางพลี ได้เข้ามาฟื้นฟูประเพณีดังกล่าว เพื่อสืบสานประเพณีท้องถิ่นที่ดีงาม มรดกทางวัฒนธรรมของบรรพบุรุษของชาวตำบลบางโฉลง ให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จักมากยิ่งขึ้น และได้เปลี่ยนแปลงจากการตักบาตรดอกไม้ในวันเข้าพรรษา มาเป็นวันอาสาฬหบูชา ก่อนวันเข้าพรรษา 1 วัน เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา โดยดอกไม้ที่นำมาตักบาตร ได้แก่ ดอกบัว ดอกมะลิ ดอกเข็ม ดอกเข้าพรรษา ดอกพุทธรักษา และดอกไม้อื่นๆ ที่มีอยู่ในท้องถิ่น
          ความเป็นมาของการตักบาตรดอกไม้ มีแจ้งในพุทธตำนานว่า นายมาลาการ ผู้ทำหน้าที่นำดอกมะลิสดไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร พระราชาแห่งมเมืองราชคฤห์เป็นประจำทุกวัน มาวันหนึ่งขณะที่เก็บดอกมะลิอยู่ในสวน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ เสด็จออกบิณฑบาตผ่านมา  นายมาลาการได้เห็นดังนั้น จึงเกิดความเลื่อมใสศรัทธาและได้นำดอกมะลิ 8 กำมือไปถวาย พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบข่าวว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จบิณฑบาตใกล้ๆ พระราชวัง จึงได้เสด็จพระราชดำเนินไปเข้าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้บำเหน็จรางวัล ความดี ความชอบให้กับนายมาลาการที่นำดอกมะลิถวายแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นับแต่นั้นนายมาลาการก็อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ด้วยอานิสงส์ของการนำดอกมะลิบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงเป็นที่มาของประเพณี "ตักบาตรดอกไม้” จนถึงปัจจุบัน/
 
แหล่งที่มา : สภาวัฒนธรรมอำเภอบางพลี
 


image รูปภาพ
image
image
image
image
image
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar